
การดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี 2020
การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตอบแทนที่ท่านได้เคยช่วยเหลือดูแลลูกหลานมาตลอดชีวิต และสังคมไทยก็มีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย การใส่ใจสุขภาพของผู้สูงอายุในครอบครัวจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่น่าภูมิใจและดีงามอย่างยิ่ง โดยวิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้สุขภาพดี มีดังนี้
1. อาหารที่เหมาะสม
อาหารที่เหมาะกับการเคี้ยวและย่อยง่าย คือ โปรตีนจากไก่และเนื้อปลาที่ทำด้วยกรรมวิธีการนึ่งและต้ม ส่วนคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมสัดส่วนในแต่ละมื้อให้ลดลง เพราะผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่กล้ามเนื้อต้องการโปรตีนไปซ่อมแซมสูง และต้องหลีกเลี่ยงอาหารใส่ผงชูรส น้ำปลา และเกลือ เพราะจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยหลังเกษียณ
2. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนและทุกวัย สำหรับผู้อายุมากกว่า 60 ปีควรเน้นที่ทำให้ร่างกายได้ยืดเส้นสายและไม่ทำลายไขข้อ เช่น การเล่นโยคะ ไทเก็ก ว่ายน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้ต้องปรับให้เวลาการออกกำลังกายเหมาะสมกับสภาพร่างกายแต่ละคน แนะนำให้ออกกำลังช่วงเวลาเช้า 05.00-07.00 น. จะทำให้อารมณ์แจ่มใสและได้รับวิตามิน ดี จากแสงแดดอ่อน ๆ ด้วย
3. อารมณ์
มีการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีความเครียดจากการปรับตัวไม่ได้หลังช่วงวัยทำงานมากขึ้น และมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ขาดลูกน้องและเพื่อนที่ทำงานที่จะพูดคุยด้วยอย่างเคย ลูกหลานจึงจำเป็นต้องชวนผู้สูงอายุในบ้านพูดคุยและให้ทำกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณค่ามากขึ้น เช่น การไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสบ่อย ๆ
4. สิ่งแวดล้อมดี
การอยู่ในบ้านที่มีการจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนเหมาะกับผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีพื้นที่ส่วนตัวให้ได้อ่านหนังสือ หรือพักผ่อนเงียบ ๆ บ้าง นอกจากนี้ การมีต้นไม้สีเขียวเป็นสวนหย่อมเล็ก ๆ ในบริเวณบ้านให้ผ่อนคลายสายตาก็จำเป็น จะทำให้สุขภาพจิตโดยรวมดีขึ้นและยังมีประโยชน์ในการกรองอากาศ ทำให้ลดความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ หอบหืด ที่เป็นปัญหาพบบ่อยในผู้สูงอายุได้
5. วิตามินบำรุง
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมโทรมง่าย จึงต้องมีการรับประทานวิตามินเสริม เช่น คอลลาเจนบำรุงไขข้อ วิตามินบี แปะก๊วยและน้ำมันปลาสกัด เพื่อบำรุงสมอง ทำให้เสริมสร้างความจำดีขึ้น และลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ การรับประทานแคลเซียม เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดปัญหากระดูกแตกร้าวหรือกระดูกพรุนได้ เป็นต้น
การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องใส่ใจทั้งสุขภาพกายและใจ ที่ต้องดีควบคู่กัน จึงจะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขและสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ทำสิ่งดี ๆ ให้กับครอบครัวและสังคมได้อีกยาวนาน

