ชวนดูแลสุขภาพในภาวะที่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5
สุขภาพ

ชวนดูแลสุขภาพในภาวะที่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวกรุงเทพและผู้ที่ต้องสัญจรมาทำธุระในกทม. ล้วนประสบปัญหาสุขภาพจากฝุ่นพิษขนาด PM 2.5 ที่ทางการประกาศว่าเป็นพิษต่อร่างกาย ในวันนี้ เราจึงขอนำเสนอการดูแลสุขภาพในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้อย่างถูกวิธีตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแนะนำ

ฝุ่นพิษ PM 2.5 มาจากอะไรและมีอันตรายอย่างไร

ฝุ่นนี้เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ การเผาขยะและวัชพืช กระบวนการเผาโดยเครื่องจักรกลทางอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยเฉพาะในกรุงเทพ ช่วงที่มีการจราจรคับคั่งร่วมกับสภาวะอากาศที่ไม่ เหมาะสม จะทำให้ฝุ่นละอองมีปริมาณสูงกระจายตัวทั่วไป (จนทำให้มองดูคล้ายหมอกในฤดูหนาว)

เมื่อมีการสูดหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ (เกิดอาการแสบจมูก ไอถี่ มีเสมหะมาก) และยังมีการศึกษาพบว่าฝุ่นขนาดจิ๋วนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งที่ปอด โรคหอบหืดกำเริบ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมองและหัวใจตีบ เป็นต้น ทั้งนี้ในเด็กและสตรีมีครรภ์ยิ่งต้องให้ความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคที่ต่ำ และส่งผลต่อน้ำหนักตัวและพัฒนาการของลูกในครรภ์ด้วย

ดูแลสุขภาพในภาวะที่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

การป้องกันสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM 2.5

ปัจจุบัน ค่าฝุ่นพิษนี้มีการกำหนดมาตรฐานไว้ว่าไม่ควรสูงเกิน 50 ug/dL หากเกินกว่านี้จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมาสูง ต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละเอียดที่จะเข้าไปสะสมในร่างกาย ซึ่งคุณสมบัติหน้ากากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศแนะนำ คือ หน้ากากแบบ N95 เป็นหน้ากากที่ทั่วโลกยอมรับว่าป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นขนาดจิ๋วได้ ถึง 0.3 microns เรียกว่าเพียงพอต่อการป้องกันระบบทางเดินหายใจต่อฝุ่นพิษ PM 2.5 (2.5 microns) ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในระหว่างที่อยู่ในสภาวะอากาศเป็นพิษควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ในพื้นที่มีต้นไม้สูงร่มรื่นที่ช่วยกรองฝุ่น งดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการจราจรติดขัด ย่านชุมชนและบริเวณที่มีการประกาศผลค่าฝุ่นพิษรายวันว่าสูงเกินกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เพราะเป็นระดับที่มีโทษต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก)

กรณีผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมตัวอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคของเส้นเลือดสมอง ฯลฯ นอกจากต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากแล้ว ก็ควรพกยาประจำตัวไว้เสมอและรีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติใด ๆ

ชวนดูแลสุขภาพภาวะที่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

การดูแลสุขภาพในช่วงที่เขตเมืองมีปัญหาวิกฤตจากฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจทั้งตัวเองและบุคคลในครอบครัว ทั้งนี้ต้องติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ที่มีการรายงานข่าวเป็นประจำทุกวันด้วย เพื่อการปรับตัวที่รวดเร็วอยู่เสมอ