
สุขภาพดีได้หากใช้กัญชาอย่างรู้เท่าทัน
กัญชานับว่าได้กลายเป็นพืชสมุนไพรที่กำลังมาแรง ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้คนไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะยาแผนปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้มีการเข้าถึงยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่อยู่ในระบบบริการสาธารณสุขด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางยา และสนับสนุนการพึ่งพาตนเองของประชาชนชาวไทย
คุณลักษณะของกัญชา เป็นพืชที่มีรสเมา กลิ่นเหม็นเขียว มีสรรพคุณทางยา ช่วยให้เจริญอาหาร ชูกำลัง แต่มักส่งผลต่อหัวใจ แพทย์ตามชนบทมักใช้ดอกกัญชาผสมกับอาหารเพื่อใช้เป็นยาแก้โรคเส้นประสาท แก้อาการนอนไม่หลับ คิดมาก เบื่ออาหาร แต่ในขณะเดียวกันกัญชาก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากนำไปใช้อย่างไม่ถูกวิธี โดยพบว่าผู้ที่สูบหรือรับประทานกัญชามักมีอาการทางเส้นประสาท รู้สึกมึนชา และคอแห้งได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรนำกัญชามาใช้อย่างรู้เท่าทันตามรายละเอียด ดังนี้
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชา ที่พบบ่อย
รู้สึกง่วงนอนมากผิดปกติ
ปาก คอแห้ง
เวียนศีรษะ รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
วิธีแก้อาการไม่พึงประสงค์เบื้องต้น
กรณีปาก คอแห้ง ให้ดื่มน้ำเปล่าตาม และควรมีปริมาณมากเพียงพอ
กรณีเมากัญชา ให้บีบมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือลงไปปลายช้อนรับประทาน หรือเคี้ยวเม็ดพริกไทย
กรณีวิงเวียนศีรษะ รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้ดื่มชาชงกับขิง หรือน้ำขิงร้อน ๆ
สภาเภสัชได้ย้ำเตือนว่ากัญชานั้นมีประโยชน์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม และช่วงวัยด้วย
อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ทันที (ผู้ใช้ควรสังเกตอาการตนเองทุกครั้งที่นำกัญชามาใช้)
หัวใจเต้นเร็ว หรือรัวผิดจังหวะ
เป็นลมหมดสติ
เจ็บหน้าอก รู้สึกร้าวไปที่แขน
เหงื่อแตก ตัวสั่นไม่หยุด
รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก
เดินไม่ตรง พูดไม่ชัด
รู้สึกสับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดระแวงโดยไม่มีเหตุผล
หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว มีอารมณ์แปรปรวน
ข้อควรระวังในการใช้กัญชา
ยาบางชนิดไม่ควรใช้ร่วมกับกัญชา อย่างกลุ่มยารักษาโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งผู้ที่ภาวะค่าตับ หรือค่าไตสูงผิดปกติ
นอกเหนือจากการรับประทานยังไม่มีการรับรองผลการรักษา และควรพิจารณาก่อนว่าเป็นกัญชามาจากที่ใด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เนื่องจากต้นกัญชาเป็นพืชที่ดูดซับทุกอย่าง กรณีปลูกในพื้นที่ที่มีสารเคมีมาก ก็อาจเกิดเป็นปัญหาสารพิษตกค้างได
ดังนั้นการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค แนะนำให้มาพบหรือขอคำปรึกษาจากแพทย์
ปัจจุบันการใช้กัญชาทางการแพทย์ยังอยู่ภายใต้การศึกษาวิจัยอยู่ การใช้เพื่อการรักษาจึงควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
กรณีใช้กัญชาเป็นระยะเวลานานแล้วไม่หาย หรือหายแต่ต้องพึ่งกัญชาตลอด แนะนำว่าไม่ควรใช้

