
โรคซึมเศร้าคืออะไร รับมืออย่างไร
เมื่อกล่าวถึงโรคซึมเศร้า หลายคนมักนึกถึงแต่เรื่องของการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกจากความผิดหวัง หรือการสูญเสีย โดยไม่คิดว่าเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งความจริงแล้วโรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่มีกันในชีวิตประจำวันเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าอารมณ์เศร้าเหล่านั้นคงอยู่เป็นเวลานาน และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือรุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่รู้สึกอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็อาจเข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้าได้แล้ว
เพราะความจริงโรคซึมเศร้าคือความผิดปกติทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลาอย่างเหมาะสม แตกต่างจากภาวะอารมณ์ตามปกติธรรมดา ซึ่งเมื่อเหตุที่มาของอารมณ์เริ่มคลี่คลาย อารมณ์เศร้าก็จะหายหรือลดลงได้ แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากอารมณ์ซึมเศร้าแล้วยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมตัว ส่งผลให้การทำงาน หรือการทำกิจวัตรประจำวันแย่ลงได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่ผู้ที่อ่อนแอ เป็นคนคิดมาก หรือไม่รู้จักสู้ปัญหา แต่เพราะพวกเขาป่วยเป็นโรคที่จะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โรคจึงจะทุเลาลงได้ ช่วยผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง พร้อมทำกิจวัตรต่าง ๆ ให้ดีดังเดิม
ในขณะที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และบุคลิกภาพไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่าง ๆ หากเกิดความสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แนะนำให้สังเกตอาการอย่างน้อยควรมีร่วมกัน 5 อย่าง หรือมากกว่า และเกิดอาการติดต่อกันอย่างน้อย 14 วัน ให้ถือว่ามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า และควรเข้ารับการรักษากับแพทย์
- อารมณ์ซึมเศร้า (กรณีเด็ก หรือวัยรุ่นอาจมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย)
- เบื่อ หมดความสนใจ หรือความสุขเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
- นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากผิดปกติ
- เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานมากผิดปกติ
- รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตนเอง
- ไม่มีสมาธิ หรือรู้สึกลังเลใจไปหมด
- พูดได้ช้า ทำอะไรก็ช้าลง หรือรู้สึกกระวนกระวาย อยู่เฉย ๆ ไม่ได้
- มีความคิดอยากตาย อยากทำร้ายตัวเอง
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ต้องใช้วิธีการรักษาทั้งทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด แต่อาการของผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางคนจึงต้องทำการรักษาหลายอย่างร่วมกัน หรืออาจใช้ระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันด้วย
- การรักษาทางจิตใจ ทำได้หลายรูปแบบ อาจเป็นการพูดคุยกับจิตแพทย์หลายครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุที่มาของปัญหา จนสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เป็นการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีที่สร้างความพึงพอใจ หรือเกิดความสุขจากการกระทำของตนเอง และพบวิธีหยุดพฤติกรรมที่นำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย การรักษาวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยค้นพบปัญหาของตนเอง เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือกำเริบซ้ำบ่อย ๆ ควรรักษาร่วมกับการใช้ยาเพื่อผลการรักษาที่ยาวที่สุด
- การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา ยารักษาโรคซึมเศร้านั้นมีหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษามักเท่าเทียมกัน แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาตามกลุ่มต่าง ๆ ที่เหมาะแก่ผู้ป่วยนั้น ๆ ก่อนเพื่อดูผลตอบสนองการรักษา เนื่องจากการตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดของผู้ป่วยจะแตกต่างกัน จากนั้นแพทย์จึงค่อย ๆ ปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยต่อไป ตัวยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้เกิดสมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและหยุดกินยาเร็วกว่าที่แพทย์กำหนดได้

